ผ่าแนวคิด 'พิมพ์ภัทรา-เกรียงไกร' คู่ 'ปาท่องโก๋' ฟื้นชีพอุตสาหกรรมไทย

15 กรกฎาคม 2567
ผ่าแนวคิด 'พิมพ์ภัทรา-เกรียงไกร' คู่ 'ปาท่องโก๋' ฟื้นชีพอุตสาหกรรมไทย
  • "พิมพ์ภัทรา" อยากเห็นกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัว อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย
  • ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในกระบวนการออกใบอนุญาตที่เร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการสนับสนุนส่งผลให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น
  • รมต.อุตสาหกรรม เน้นย้ำนโยบาย Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องจับมือกับ ส.อ.ท. เพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน 
  • "เกรียงไกร เธียรนุกุล" ประธาน ส.อ.ท. หวังงบภาครัฐที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและมีการหมุนเวียน รวมถึงเงินดิจิทัลวอลเล็ตและภาคการท่องเที่ยวครึ่งปีหลังจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น
  • รมต.พิมพ์ภัทรา ถือว่ามีทิศทางที่ดีตรงกันโดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นพิเศษ เมื่อได้หารือร่วมกันทำให้ทั้งเกิดความร่วมมือเป็น "ปาท่องโก๋" ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการณที่ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเข้าหารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะร่วมหารือเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา

โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ตนได้ให้นโยบายตั้งแต่วันแรกของการรับตำแหน่งว่า อยากเห็นกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมผู้ประกอบการ และนักลงทุนให้เกิดความคล่องตัว อะไรที่เป็นปัญหาก็ต้องจัดการให้เรียบร้อย ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง 

ทั้งในกระบวนการออกใบอนุญาตที่เร็วขึ้น ส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 

ส่งผลให้ธุรกิจแข็งแรงขึ้น และสิ่งที่เน้นย้ำ คือ เรื่องของนโยบาย Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายที่กระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องจับมือกับ ส.อ.ท. เพื่อฝ่าฟันปัญหาไปด้วยกัน 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึง นโยบายบริหารงาน ส.อ.ท. ในช่วงปี 2567 – 2569  ว่า ต้องยอมรับว่า จากกติกาใหม่ของโลก ตลอดจนข้อตกลงทางการค้า FTA และการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมดั้งเดิมมาสู่อุตสาหกรรมใหม่ของ 22 อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนัก 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหามาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นเราได้ตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม โดยมี 4 คณะทำงาน ประกอบด้วย 

1. คณะทำงานยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อนาคต (S-Curve & Industry Transformation) เพื่อสร้างกลไกและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนพัฒนาเอสเอ็มอีให้เข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่เหมาะกับกิจการและประเภทอุตสาหกรรม 

2. คณะทำงานการพัฒนาอุตสาหกรรม (Circular Economy และ Climate Change) เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ End of Waste พัฒนาระบบและกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม ผลักดันและขับเคลื่อน Circular Material Hub, Circular Economy Model Sandbox ส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยมุ่งสู่ Carbon Neutrality & Climate Change      

3. คณะทำงานอำนวยความสะดวกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการประกอบกิจการและมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้กับภาคอุตสาหกรรม ขับเคลื่อนปรับปรุงผังเมืองทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และ 

4. คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรม SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ส.อ.ท.คาดหวังว่างบประมาณภาครัฐที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและมีการหมุนเวียนของการใช้งบประมาณ ซึ่งจะอยู่ที่การจัดซื้อ การเบิกจ่ายที่ต้องรวดเร็ว รวมถึงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่จะเข้ามาช่วงปลายปีนี้ และหวังว่าภาคการท่องเที่ยวช่วงปลายปีที่เป็นช่วงไฮซี่ซั่นจะกลับมาจะช่วยให้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น

"ตอนนี้ส.อ.ท.อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้รับผิชอบทั้ง 4 คณะให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคาดว่าช่วงสัปดาห์หน้าจะเรียบร้อย การหารือครั้งนี้ ถือว่ามีทิศทางที่ดีตรงกันโดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นพิเศษ ท่านรมต.มีความตั้งใจและมีความชัดเจนมาก เมื่อได้หารือร่วมกันถือเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ทั้งรัฐและเอกชนได้ทำงานร่วมกัน และจะเป็นปาท่องโก๋ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตต่อไปในอนาคต" นายเกรียงไกร กล่าว


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.